ยูนิเซฟกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กกว่า 120,000 คน ที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการกำกับดูแล - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2566

ยูนิเซฟกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กกว่า 120,000 คน ที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการกำกับดูแล

children in silhouette

ยูนิเซฟกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กกว่า 120,000 คน

ที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการกำกับดูแล

กรุงเทพฯ, 20 เมษายน 2566 –  ยูนิเซฟรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กกว่า 120,000 คนที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย จากข้อมูลงานวิจัยชิ้นใหม่ซึ่งเผยแพร่วันนี้โดยมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายและยูนิเซฟ พบว่า ปัจจุบันมีเด็กที่เติบโตนอกบ้านและอาศัยอยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศกว่า 120,000 คน โดยสถานรองรับเหล่านี้ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัด ศาสนสถาน และสถานที่ประเภทอื่น ๆ ที่รับเด็กไว้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดการติดตามและกำกับดูแล

งานวิจัยใหม่ “เด็กโตนอกบ้าน...ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น” พบว่า ปัจจุบัน เด็กกว่า 6,000 คนอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ และอีกประมาณ 43,000 คนเติบโตในโรงเรียนประจำของภาครัฐ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเด็กพิเศษจำนวน 12,000 คน นอกจากนี้ยังมีเด็กกว่า 33,000 คนบวชเป็นเณรและอีก 2,000 คนที่อาศัยอยู่ที่วัด ในขณะเดียวกัน ยังมีเด็กประมาณ 39,000 – 77,000 คนที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย โดยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีจำนวนสถานสงเคราะห์เอกชนมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทั้งหมดทั่วประเทศ

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “จำนวนเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานรองรับเหล่านี้สูงจนน่าตกใจ เพราะการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งแยกจากครอบครัว โดยเฉพาะในสถานรองรับที่มีเด็กจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ของเด็กในระยะยาว เนื่องจากเด็ก ๆ ไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคง หรือพัฒนาทักษะทางสังคม หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งทางสุขภาพกายและจิตใจอย่างที่พวกเขาจะได้รับในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการขาดระบบกำกับดูแลตรวจสอบสถานรองรับเหล่านี้ นั่นแปลว่า เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเด็ก ๆ มีความเป็นอยู่แบบไหน ได้รับการดูแลอย่างไร หรือมีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง การถูกทำร้ายหรือถูกละเลยทอดทิ้งหรือไม่”

ยูนิเซฟเน้นย้ำเสมอว่า ในกรณีที่เด็กไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ สถานรองรับหรือสถานสงเคราะห์ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายและควรอาศัยอยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ งานวิจัยพบว่าเด็กที่เติบโตในสถานเหล่านี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ เมื่อเติบโตขึ้น เช่น ปัญหาด้านสุขภาพจิต การเรียน หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนากลไกเพื่อติดตามและกำกับดูแลสถานรองรับเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อพัฒนาการของพวกเขา ในขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม ควรต้องร่วมมือกันกำกับดูแลสถานรองรับรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัดและศาสนสถาน

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเด็กทุกคนควรได้เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจโดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีสถานรองรับเหล่านี้ ทั้งนี้ ยูนิเซฟกำลังดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกพรากจากครอบครัว พร้อมกับส่งเสริมให้เด็กได้อาศัยอยู่กับญาติหรือครอบครัวอุปถัมภ์ในกรณีที่พ่อแม่ของเด็กไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก (พ.ศ. 2565-2569) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัวและปรับปรุงมาตรฐานการดูแลเด็ก ควบคู่ไปกับลดการพึ่งพิงการดูแลในรูปแบบสถานสงเคราะห์

นางคิมกล่าวปิดท้ายว่า “เด็กทุกคนควรเติบโตในครอบครัวที่รักและดูแลเอาใจใส่ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนโยบายเหล่านั้นถูกนำมาปฏิบัติจริง ยูนิเซฟพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมที่เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริง”

 

ดาวน์โหลดวิดีโอ “เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน” https://drive.google.com/file/d/1y_YEPApglQv55J04qhOXRAAdH0qdDeJe/view

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad