เชฟรอน-P2H ชู “น้ำโมเดล” ขับเคลื่อนการช่วยเหลือวัยรุ่นเผชิญปัญหา เชื่อมโยงสหวิชาชีพ สร้างสังคมสุขภาวะ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เชฟรอน-P2H ชู “น้ำโมเดล” ขับเคลื่อนการช่วยเหลือวัยรุ่นเผชิญปัญหา เชื่อมโยงสหวิชาชีพ สร้างสังคมสุขภาวะ

 เชฟรอน-P2H ชู น้ำโมเดล” ขับเคลื่อนการช่วยเหลือวัยรุ่นเผชิญปัญหา

เชื่อมโยงสหวิชาชีพ สร้างสังคมสุขภาวะ

“น้องน้ำ เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 19 ปี ที่มีลูกเมื่อไม่พร้อม แต่ดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกแต่เพียงลำพังโดยคุณแม่วัยใสจะเป็นเพียงการจั่วหัวเรื่องของปัญหาในเคสนี้เท่านั้น  ทว่าเมื่อมองเข้าไปในบริบทแวดล้อมเรายังพบปัญหาด้านสังคมอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือพร้อมๆ กันไปด้วย อาทิ การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทั้งสมาชิกในครอบครัวบางคนยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพอีกด้วย การช่วยเหลือให้น้องน้ำสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือเธอเท่านั้น แต่อยู่ที่การทำอย่างไรให้น้องน้ำและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานในหลายมิติ ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หรือที่เรียกว่า ทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และยังเป็นโมเดลในการช่วยเหลือคุณแม่วัยใสในกรณีอื่นๆ ด้วย “น้ำโมเดล” คืออะไร บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

 

เมื่อปัญหาซับซ้อน จึงต้องใช้ สหวิชาชีพ

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H Foundation) ได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ในพื้นที่หลายจังหวัด รวมถึงจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและติดอาวุธเรื่องเพศให้วัยรุ่น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่เผชิญปัญหาต่างๆ อาทิ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การติดยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการฯ คือ การพัฒนาทีม

สหวิชาชีพ อาทิ บุคลากรด้านสาธารณสุข ครู เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว ผู้ดูแลเด็ก องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหารายกรณี ผ่านการทำ Case Conference ซึ่งเป็นการสร้างระบบเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหลายสาขาวิชาชีพดังกล่าว ในการดูแลช่วยเหลือเยาวชนและครอบครัวที่เผชิญปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการแพทย์ สวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือด้านการเงิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการสนับสนุนอื่นๆ ผ่านการประสานงานที่เป็นระบบ ทั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและพึ่งพาตนเองได้

นางจรีรัตน์  กังพานิช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถานีอนามัยตำบลเขารูปช้างสาขา ๒ (เขาแก้ว) หรือ    พี่แอน กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะได้เข้าร่วมกับโครงการนี้ การทำงานจะแยกส่วน ไม่ได้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นมากนัก แต่พอโครงการเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมประสาน ทำให้เราได้รู้จักกับหน่วยงานสหวิชาชีพอื่นๆ เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน และมีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย ช่วยเปิดมุมมองการทำงานให้กว้างขึ้น ในส่วนของคนไข้ ก็ได้รับประโยชน์จากการที่หลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

อย่างกรณีศึกษาของ น้องน้ำ หรือ น้ำโมเดล คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัยรุ่น พี่ได้รับข้อมูลมาจากทางโรงพยาบาลสงขลา จึงลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมหลังคลอดตามหน้าที่ของพยาบาล ทำให้พบว่าครอบครัวนี้ประสบปัญหามากมาย ทั้งด้านสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยมีความชำรุดทรุดโทรม คุณแม่ของน้องน้ำมีภาระหนี้สินนอกระบบ คุณยายเองมีปัญหาด้านสุขภาพข้อเข่าเสื่อม รวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของสมาชิกรายอื่นภายในครอบครัวที่มีทั้งน้องสาวที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นและญาติอาศัยอยู่ร่วมกัน หลังจากติดตามเยี่ยมเคสในหลายๆ ครั้ง เราก็รวบรวมข้อมูลและประเมินสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความช่วยเหลือ จากนั้นจึงนำไปประสานงานผ่านการทำ Case Conference ในฐานะของคนต้นเรื่อง เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ อาทิ นักพัฒนาชุมชน หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก และมูลนิธิ P2H

 ในการประชุมร่วมกันนี้ เราจะมานั่งปรึกษาหารือกันในแต่ละประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือว่ามีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้างเพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ร่วมกันพัฒนาแผนงานและค่อยๆ แก้ไขไปทีละเปลาะ รวมถึงคอยติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าทุกอย่างจะคลี่คลายลง จากเดิมที่คนในบ้านมีแต่สีหน้าทุกข์ใจ ไม่เคยยิ้มเลย ก็สดใสขึ้น

 มาทำงานตรงนี้ทำให้เข้าใจความเป็นครอบครัวมากยิ่งขึ้น เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฐานของครอบครัวต้องแข็งแรงก่อน รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ซึ่งอาจวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่มีคุณค่าทางจิตใจ ยิ่งได้ทำงานกับกลุ่มคนที่มีใจอยากจะช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวเลย หากเจอปัญหาที่อยู่นอกกรอบหน้าที่ของเรา เราก็ยังสามารถเชื่อมประสานกับเครือข่ายเพื่อให้การช่วยเหลือได้

 สานพลังสู่การแก้ปัญหา

นางสาวจุรีวัญญ์  เพชรศรี หรือ พี่ติ๋ม หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์ เทศบาลเมืองเขารูปช้าง กล่าวเสริมในการทำเคสของน้องน้ำว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่ของพี่แอน และการเข้าร่วมประชุม Case Conference เกี่ยวกับเคสครอบครัวของน้องน้ำโดยละเอียดแล้ว ด้วยบทบาทหน้าที่ของเราในการดูแลด้านความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ทางเทศบาลจึงมีอีกหนึ่งหน้าที่ในการเชื่อมประสานกับทางนิติกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สำหรับการช่วยเหลือในระยะยาว การติดตามผลสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงการแก้ปัญหาเพิ่มเติมที่ทางเคสไม่สามารถแก้ได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น กองสวัสดิการ เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ได้ช่วยประสานงานขอสนับสนุนนมผงจากสถานสงเคราะห์บ้านเด็กสงขลาให้ลูกสาวของน้องน้ำ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ ทีมกองช่างได้เข้ามาซ่อมแซมห้องสุขาและปรับเปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ที่เดิมเป็นแบบนั่งยอง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพข้อเข่าของคุณยาย ให้เป็นโถส้วมแบบชักโครกอีก 1 ชุด โดยเชฟรอนประเทศไทยเป็นผู้มอบให้ นอกจากนี้ ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลายังมอบงบประมาณอีก 20,000 บาท สำหรับการปรับปรุงที่อยู่อาศัย

 แม้แต่ปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบของคุณแม่ของน้องน้ำ ทางนิติกรและสำนักอัยการจังหวัดได้เข้ามาช่วยเหลือจนเคลียร์หนี้นอกระบบได้ โดยให้คุณแม่เข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบอย่างถูกต้องแทน นอกจากนั้น ทางด้านชมรมผู้สูงอายุก็เข้ามามีบทบาทให้ความช่วยเหลือโดยรวบรวมเงินมอบทุนการศึกษาให้กับน้องสาวของน้องน้ำอีกด้วย  หลังจากได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนแล้ว เราก็รู้สึกมีความสุขมาก โดยโครงการนี้ก็ตอบโจทย์อย่างมากในการช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำต่อไปด้วยใจที่รักในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคน

 ซึ่งภายหลังจากการให้ความช่วยเหลือในกรณีของน้องน้ำ จึงเกิดเป็น น้ำโมเดล เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของเคสอื่นต่อไป นอกจากนี้ การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานและกลุ่มสหวิชาชีพในการช่วยเหลือของกรณีถัดๆ ไปก็มีความคล่องตัวและมีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือที่กว้างขวาง รวดเร็ว และตรงจุด

ขับเคลื่อน น้ำโมเดล แก้ปัญหาให้ลุล่วงอย่างเป็นระบบ

                              นางสาวภาวนา เหวียนระวี

นางสาวภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) กล่าวว่า อีกหน้าที่หนึ่งของ P2H ในโครงการนอกจากการช่วยเหลือและสนับสนุนการทำCase Conference คือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชุมชนในพื้นที่ของโครงการ กับชุมชนอื่นภายนอกที่มีความสนใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนผ่านการฝึกอบรม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน หรือแม้แต่ในเวทีระดับชาติ

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ตรงกับนโยบายเพื่อสังคมของเชฟรอนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในพื้นที่ที่เชฟรอนเข้าไปปฏิบัติงานอยู่ เรามีความมุ่งมั่นสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อลดปัญหาท้องไม่พร้อมและปัญหาอื่นๆ ในวัยรุ่น โดยในปัจจุบัน โครงการได้ขยายผลการทำงานไปยังพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี โครงการฯ ได้ให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นและครอบครัวที่เผชิญปัญหามากถึ 258 คน ผ่านการขับเคลื่อนความร่วมมือของสหวิชาชีพด้วยระบบ Case Conference  ซึ่งกลายเป็นโมเดลการทำงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนที่เผชิญปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทางเชฟรอนประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการฯ นี้มีส่วนช่วยสร้างสังคมสุขภาวะ ทำให้เยาวชนที่ประสบปัญหาสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน เป็นโครงการที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2559 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมมูลค่ากว่า 19.5 ล้านบาท โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ได้แก่ ครู แพทย์ วิทยากรพ่อแม่ เยาวชนแกนนำ ศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชน อสม. บริการจิตสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น คณะทำงานระดับจังหวัด และสื่อมวลชน เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และปัญหาอื่นๆ ในวัยรุ่น โดยในระยะแรกได้เริ่มดำเนินโครงการที่จังหวัดสงขลา ก่อนนำบทเรียนความสำเร็จไปปรับใช้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และขยายโมเดลการขับเคลื่อนในอีก 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ประจวบคีรีขันธ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad