ฟิทช์ ปรับลดอันดับเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็น A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ฟิทช์ ปรับลดอันดับเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็น A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

      บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เป็น 'A(tha)' จาก 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ BAFS ที่ 'F1(tha)' 

          การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าฐานะทางการเงินของ BAFS น่าจะอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยปัจจุบัน ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2.5 เท่า ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินที่คาดว่าสูงขึ้นเป็นผลมาจากต้นทุนค่าก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้นในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BAFS รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีความล่าช้าในการเปิดดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 ของโครงการดังกล่าว
          ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
          อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน FFO –adjusted net leverage ของ BAFS จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.5 เท่า ถึง 4.5 เท่า ในช่วงปี 2562-2563 (สิ้นปี 2561: 2.8 เท่า) เนื่องจากฟิทช์คาดว่าต้นทุนค่าก่อสร้างสำหรับโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ FPT น่าจะมีการเพิ่มขึ้นอีก และการเปิดดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 น่าจะเลื่อนมาเป็นกลางปี 2563 ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิมประมาณ 6 เดือน ส่งผลให้รายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของโครงการเข้ามาช้ากว่าที่คาด โครงการระยะที่ 1 ได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะเริ่มลดลงในปี 2564 มาอยู่ในระดับ 2.5 เท่าถึง 3.5 เท่า หลังจากโครงการของ FPT แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า BAFS ไม่มีแผนการลงทุนอื่นใดอีก
          BAFS ได้มีการเข้าร่วมประมูลในรูปกิจการร่วมค้า สำหรับโครงการระบบเติมน้ำมันอากาศยานของสนามบินอู่ตะเภาแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นสนามบินหลักในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย หากกิจการร่วมค้าของ BAFS ชนะการประมูล ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในระดับใกล้ 4.5 เท่าในช่วงปี 2562-2563 และประมาณ 3.5 เท่าในปี 2564 นอกจากนี้ BAFS ยังมีการศึกษาหาโอกาสทางการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งฟิทช์อาจมีการพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตของ BAFS เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้น
          ความเสี่ยงด้านอุปสงค์ของโครงการท่อขนส่งน้ำมัน: โครงการท่อขนส่งน้ำมันของ FPT ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันเส้นแรกในภาคเหนือของประเทศไทย มีความเสี่ยงในการหาลูกค้าเพื่อมาใช้บริการ โครงการระยะที่ 1 ได้เปิดดำเนินการและให้บริการขนส่งน้ำมันส่วนหนึ่งให้แก่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทยเกือบทุกราย แม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาระยะยาวในการขนส่งน้ำมัน ฟิทช์เห็นว่าความเสี่ยงในการหาลูกค้ามาทำสัญญาได้รับการบรรเทาลงจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในบริเวณที่ท่อขนส่งน้ำมันให้บริการที่มีอย่างต่อเนื่อง ค่าบริการที่แข่งขันได้กับการขนส่งด้วยวิธีการอื่น โดยเฉพาะทางรถบรรทุก นอกจากนี้ ฟิทช์เห็นว่าการเปลี่ยนวิธีขนส่งน้ำมันมาใช้ระบบท่อขนส่ง น่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเหตุผลด้านความปลอดภัย สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
          การเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันที่ช้าลง: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ในปี 2561 อัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 2562 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 4 ที่คาดไว้เดิม เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศลดลง ปัจจัยเหล่านี้น่าจะยังคงส่งผลต่อเนื่องในปี 2563 อัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินระยะไกลที่ให้บริการโดยสายการบินต้นทุนต่ำที่สนามบินดอนเมือง ในขณะที่ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิน่าจะค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2562-2563
          สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทย โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 88) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยและได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูงของผู้บริการรายใหม่ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้ ในขณะที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ FPT น่าจะช่วยทำให้ BAFS มีการการะจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีขึ้นและมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า
          ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
          การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
          ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. รายได้ของ GPSC ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ แม้ว่า GPSC จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า BAFS แต่ก็ชดเชยด้วยสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าด้วยขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่า ซึ่งสะท้อนถึงการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ดีกว่า โดยเฉพาะหลังจากการเข้าซื้อกิจการของ GLOW ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงลักษณะรายได้ที่มีสัญญาระยะยาวรองรับ ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC ที่ a(tha) โดยอันดับเครดิตของ GPSC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับกลุ่ม ปตท.
          เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย BAFS มีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงกว่า CP ALL แต่ CP ALL มีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งมาก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่นับจากจำนวนร้านค้าที่มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CP ALL ยังขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้มีความผันผวนในรายได้และอัตรากำไรที่ต่ำ CP ALL มีขนาดของธุรกิจและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ใหญ่กว่า BAFS มาก CP ALL อยู่ในช่วงลดอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งทำให้มีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ BAFS ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน

          สมมุติฐานที่สำคัญ
          สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
          - ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานมีการเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 2.5 ในปี 2562 และร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปีในปี 2563-2564
          - โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยระยะที่ 2 แล้วเสร็จและเริ่มสร้างรายได้ใน เดือนกรกฎาคม 2563 โดยรายได้ของ FPT ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยมีการดำเนินงานเต็มปี อยู่ในระดับ 1.3 พันล้าน-1.4 พันล้านบาท
          - อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ประมาณร้อยละ 56 ในปี 2562-2563 เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการเปิดดำเนินการโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 57-58 ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยทั้งสองระยะมีการดำเนินงานเต็มปี
          - ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวน 2.6 พันล้าน-2.7 พันล้านบาทในปี 2562 จำนวน 2.1 พันล้าน-2.2 พันล้านบาทในปี 2563 และจำนวน 500 ล้าน-550 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งได้รวมเงินลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแผนการขยายสนามบินดอนเมือง
          ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
          ปัจจัยบวก:
          -อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังคงรักษาสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของ FPT มีการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ
          ปัจจัยลบ:
          -อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
          -ความเสี่ยงของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของ FPT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีก การเริ่มเปิดดำเนินการที่ล่าช้ากว่าที่คาดของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของโครงการต่ำกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก

          สภาพคล่อง
          สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: BAFS มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือที่เพียงพอ และระยะเวลาการชำระหนี้คืนที่มีการกระจายตัวที่ดี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 BAFS มีหนี้สินระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 466 ล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ BAFS มี ยอดเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1.4 พันล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินฝากธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 579 ล้านบาท ซึ่งเป็นหลักประกันของเงินกู้ระยะยาวจากธนาคาร) นอกจากนี้สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad