นิคมฯสตึกชูแนวทางสหกรณ์ จัดสรรที่ดิน-พัฒนาอาชีพสู่เกษตรกรรมยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

นิคมฯสตึกชูแนวทางสหกรณ์ จัดสรรที่ดิน-พัฒนาอาชีพสู่เกษตรกรรมยั่งยืน


รายงานพิเศษ : นิคมฯสตึกชูแนวทางสหกรณ์  จัดสรรที่ดิน-พัฒนาอาชีพสู่เกษตรกรรมยั่งยืน
พื้นที่อำเภอแคนดง และอำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพลอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 38,668 ไร่ ซึ่งในอดีตมีราษฎรเข้าอาศัยและทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งนี้จำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้คืนสู่สภาพป่าเหมือนเดิมได้ รัฐบาลจึงนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพลองให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ให้ถูกต้องตามกฎหมายป่าไม้ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13สิงหาคม 2517 จัดสรรที่ดินให้ราษฎรโดยวิธีการสหกรณ์ในรูปสหกรณ์การเช่าที่ดิน
นายภูมิสิทธิ์ แก้วแจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์สตึก บุรีรัมย์ กล่าวว่า นิคมสหกรณ์สตึก บุรีรัมย์ เป็นหน่วยจัดที่ดินให้เกษตรสมาชิกตามกฎหมาย ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยวิธีการสหกรณ์ เป็นการจัดประเภทสหกรณ์นิคม โดยมุ่งหวังให้ราษฎรมีที่ทำกิน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์จัดหาเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมไปปรับปรุงขยายอาชีพ ส่งเสริมจัดหาอาชีพหลักให้สมาชิกและราษฎร จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคและวัสดุการเกษตรมาจำหน่ายให้สมาชิก พร้อมรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาที่ยุติธรรม หรือแปรรูปเพื่อจำหน่าย
ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมทั้งหมดดำเนินการไปได้ จึงต้องมีตัวกลางคือ“สหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด” เป็นหน่วยงานสนับสนุนขับเคลื่อนพัฒนาระบบสหกรณ์ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ ช่วยเหลือสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกัน นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพตามหลักการสหกรณ์
ปัจจุบันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพลอง 38,667 ไร่ อยู่ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แคนดง และอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ทางนิคมสหกรณ์สตึก
ได้สำรวจรางวัดรอบแปลงมีพื้นที่จัดสรรได้ 1,513 แปลงเนื้อที่รวม 30,010 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าไปใช้ประโยชน์แล้วทั้งหมด โดยส่วนใหญ่กว่า 80% ปลูกยางพารา ที่เหลือปลูกยูคาลิปตัสและอ้อยเป็นหลัก
ด้านนายสุระชัย ปะรุนรัมย์ เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์อาวุโส นิคมสหกรณ์สตึก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากงานจัดที่ดิน งาน
ส่งเสริมสหกรณ์แล้ว ยังมีภารกิจเสริมอาชีพในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์ ซึ่งนิคมสหกรณ์สตึก มีพื้นที่สงวนเพื่อกิจการนิคม 140 ไร่ ได้พัฒนาพื้นที่บางส่วน 40 ไร่ ให้เป็นแปลงปลูกผักผสมผสาน ซึ่งมีสมาชิกสหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด ที่ไม่มีที่ทำกินเข้ามาใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักในพื้นที่ โดยจัดสรรพื้นที่ให้รายละ 2 งาน รวม 20 ราย โดยพืชที่ปลูกเป็นหลักคือ ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดข้าวเหนียว
แต่ด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีระบบน้ำ ไม่เอื้อทำเกษตร เดิมมีสระน้ำ 23 ไร่ เกษตรกรยังต้องปั๊มน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อใช้ปลูกพืชผัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงจัดสรรงบปี 2562 จำนวน 493,000 บาท ปรับปรุงพัฒนาระบบน้ำ สร้างถังน้ำขนาด 20,000 ลิตร ระบบท่อน้ำ ระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 10 แผง และระบบซับเมอร์ส เพื่อสูบน้ำจากถังน้ำใหญ่ และจ่ายน้ำให้เกษตรกรสมาชิก ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกได้ร่วมกันนำโอ่งน้ำใหญ่ขนาด 500 ลิตร 13 ใบ มาตั้งจุดต่างๆ ในแปลงเกษตรกร เพื่อรองรับน้ำจากถังใหญ่ เป็นแนวทางจัดการน้ำให้ทั่วถึงทั้งแปลง
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการส่งเสริมระบบน้ำ โดยใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ในพื้นที่นิคมของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้มีน้ำใช้โดยไม่เปลืองพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนระบบน้ำให้เกษตรกร มีน้ำใช้ฤดูแล้งวางแผนผลิตเป็นระบบ เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชผักไว้ขายผ่านระบบสหกรณ์ได้มากขึ้น ตั้งเป้าว่าผลิตพืชผักให้ได้วันละ 100 กิโลกรัม
นอกจากนี้ สหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด สามารถเพิ่มปริมาณธุรกิจ จากการจำหน่ายวัสดุการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพ และลดต้นทุนดำเนินงาน จากการกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 900,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 สหกรณ์ฯจัดการด้านการตลาดโดยรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้สมาชิก ลดต้นทุนการผลิต โดยรวมกันซื้อวัสดุการเกษตร สมาชิกปลูกพืชผักแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ของนิคมสหกรณ์สตึกให้คำปรึกษาติดตามผลใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มอาชีพในพื้นที่นิคมสหกรณ์สตึกได้นำแนวทางส่งเสริมการเกษตรแบบ
“ระบบตลาดนำการเกษตร” และแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นระบบเป็นต้นแบบแก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืน
จากการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรสมาชิกได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของนิคมฯ ในพื้นที่ 40 ไร่ เบื้องต้นเกษตรกรสมาชิกปลูกข้าวโพดโดยใช้ระยะเวลา 70 วันต่อรอบการผลิต ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวโพดเฉลี่ย8,000 บาท ขณะนี้ทดลองปลูกข้าวโพดแล้ว 3 รอบ สมาชิกแต่ละรายจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 24,000 บาท ทั้งนี้ นิคมสหกรณ์สตึก มีแนวทางพัฒนาพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อแบ่งให้เกษตรกรสมาชิกใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินทำเกษตร สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง ที่สำคัญยังมีแนวทางพัฒนาอาชีพให้สมาชิกสหกรณ์นิคมฯ ด้วยการปลูกข้าวโพดให้มีลักษณะเด่น โดยวางแผนจะนำหินภูเขาไฟมาผสมกับดินในพื้นที่ เพื่อให้เป็น“ข้าวโพดดินภูเขาไฟ”สร้างเอกลักษณ์จำเพาะ และวางแผนต่อยอดแปรรูปเป็นน้ำข้าวโพดต่อไป นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานสนใจ เข้ามาเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ พร้อมกันนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad