กสอ. ปลื้มศูนย์ไทยไอดีซี ปั้นนักออกแบบภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,500 ราย ผนึก 50 หน่วยงานบริการเต็มรูปแบบ ปี 62 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กสอ. ปลื้มศูนย์ไทยไอดีซี ปั้นนักออกแบบภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,500 ราย ผนึก 50 หน่วยงานบริการเต็มรูปแบบ ปี 62

กสอ. ปลื้มศูนย์ไทยไอดีซี ปั้นนักออกแบบภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,500 ราย ผนึก 50 หน่วยงานบริการเต็มรูปแบบ ปี 62

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)   เผยศักยภาพศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Thailand-Industrial Design Center :Thai-IDC ปี 2559-2561 สามารถผลิตนักออกแบบเพื่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆได้มากกว่า2,500 ราย  จำนวน 1,875 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยศูนย์ดังกล่าวเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2562 โดยมีบริการ อาทิ การให้บริการพื้นที่ในการจัดกิจกรรม Co-Working Space การสร้างบุคลากรด้านการออกแบบเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมผนึกความร่วมมือกับ 50 หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนศูนย์ดังกล่าวให้มีบทบาทสำคัญในด้านการออกแบบเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  อย่างไรก็ตาม กสอ. ยังเผยปัจจัย 4 ด้าน ที่ผู้ประกอบการและนักออกแบบต้องคำนึงถึงในปีถัดไป ได้แก่ วัยของผู้บริโภค การออกแบบที่ยึดโยงความสวยงามและการใช้งาน การให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับบริบทต่างๆของผู้ใช้

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Thailand-Industrial Design Center :Thai-IDC เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสในการค้นหาและต่อยอดไอเดียไปสู่ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาแบรนด์ไปสู่การค้ายุคดิจิทัลที่จะต้องมีทั้งความแปลกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และการกำหนดเทรนด์แห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สำหรับการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ดังกล่าวได้พัฒนาทั้งสินค้าและบริการทางอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขา รวมทั้งสิ้น 1,875 ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอะนิเมชั่น อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการผลิตนักออกแบบที่ช่วยสนับสนุนอุตสากรรมต่างๆได้มากกว่า 2,500 คน แบ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา (Young Designer) 1,600 คน  นักออกแบบอิสระ 260 คน และนักออกแบบที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs 675 คน นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้ก้าวสู่การค้าระดับต่างประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้สินค้าและบริการของไทยได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง

นายกอบชัย กล่าวต่อว่า ในปีถัดไป ศูนย์ดังกล่าวมีแนวทางการดำเนินงานภายใต้กระบวนการสำคัญที่กำลังเร่งผลักดันอย่างจริงจัง 4 ขั้นตอน คือ 1.การสร้างบุคลากรด้านการออกแบบเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มากกว่าเดิม 2. การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหลากหลายสาขาพร้อมสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ 3.การสร้างแบรนด์และถ่ายทอดองค์ความรู้ และ 4.การให้บริการพื้นที่ในการจัดกิจกรรม Co-Working Space เช่น การจัดนิทรรศการ การสรรหาความร่วมมือ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาบริการและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติสำหรับขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เครื่องตัดกล่องกระดาษความเร็วสูงสำหรับขึ้นต้นแบบบรรจุภัณฑ์ ฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นด้านการออกแบบ ตลอดจนแอปพลิเคชั่นเพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และการเข้าถึงงานบริการที่มีความรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังจะผลักดันให้ศูนย์ดังกล่าว ให้มีบทบาทในด้านการออกแบบแห่งย่านพระรามสี่ พร้อมเชื่อมโยงไปยังศูนย์ ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ที่ทำงานสอดคล้องกันเป็นระบบอย่างครบวงจร รวมถึงยังมีความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเฉพาะทางต่าง ๆ มากกว่า 50 หน่วยงานที่อยู่โดยรอบ เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่จะทำงานสอดคล้องกัน เป็นต้น เพื่อยกระดับการออกแบบให้มีศักยภาพและนำไปใช้เพิ่มมูลค่าได้จริงในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังจะผลิตหลักสูตรเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการดีไซน์อย่างเข้มเข้น อาทิ หลักสูตร 3D printing กับการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ หลักสูตรกลยุทธ์การสร้างแบรนด์แฟชั่นสู่สากล หลักสูตร Design Thinking : พัฒนาธุรกิจด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบให้แข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์รวมด้านการออกแบบทางอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ พร้อมนำมาซึ่งการลงทุน และการจ้างงานต่อไปในอนาคต

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 คาดว่าการออกแบบจะทวีความสำคัญในหลายๆกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มและกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในปัจจัยดังต่อไปนี้
  • วัยของผู้บริโภค ซึ่งแต่ละช่วงอายุ เพศ สถานะ จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มมิลเลเนียล ที่มักอาศัยอยู่ในเขตเมืองและมีพฤติกรรมที่ยึดติดกับโซเชียลมีเดีย กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่นิยมความหลากหลายและเน้นการแสดงออกถึงตัวตน กลุ่มเจเนอเรชั่นซี ที่ชอบค้นหาและชอบเป็นจุดศูนย์กลางหรือดึงดูดความสนใจ กลุ่มมุสลิมที่ชื่นชอบความเรียบง่ายและเชื่อมโยงกับหลักศาสนา  เป็นต้น
  • การออกแบบที่ยึดโยงความสวยงามและการใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีบทบาทกับผู้บริโภคในแง่ความรู้สึก และความคุ้มค่าเมื่อได้เลือกซื้อสินค้าและบริการนั้นไป เช่น บรรจุภัณฑ์ อายุสินค้าและการจัดเก็บ การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือระบบดิจิทัล
  • ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยที่หลายๆภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สีหรือวัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ อุปกรณ์ต่างๆที่ประหยัดพลังงาน การรีไซเคิลเป็นสิ่งใหม่ ฯลฯ
  • ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับบริบทต่างๆของผู้ใช้ ซึ่งนักออกแบบหรือผู้ประกอบการจะต้องผลิตสินค้าและการบริการที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกถึงสิ่งต่างๆที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตหรือกระแสนิยมของสังคม เช่น  สินค้าที่ให้ความรู้สึกเสมือนได้ไปเยี่ยมเยือนชุมชนหรือท้องถิ่น สินค้าที่เชื่อมโยงกับงานศิลปะและวัฒนธรรม สินค้าและบริการที่สื่อถึงความล้ำสมัย หรือมาจากโลกแห่งอนาคต เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (กส.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8201-4 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad