จุฬาฯใช้ ‘แก้วกระดาษ’ แทนพลาสติกแล้ว 95% ครบ 102 ปีมหาวิทยาลัยเตรียมไร้ถุงพลาสติก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จุฬาฯใช้ ‘แก้วกระดาษ’ แทนพลาสติกแล้ว 95% ครบ 102 ปีมหาวิทยาลัยเตรียมไร้ถุงพลาสติก



จุฬาฯใช้ ‘แก้วกระดาษ’ แทนพลาสติกแล้ว 95% ครบ 102 ปีมหาวิทยาลัยเตรียมไร้ถุงพลาสติก



เผยผลสำเร็จ 4 เดือน “Zero Waste Cup” ลดแก้วพลาสติกไปแล้ว 95% ดีเดย์ 26 มี.ค. “วันสถาปนา” เปลี่ยนทั่วมหาวิทยาลัย-ไร้ถุงพลาสติก
ศ.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดถึงความคืบหน้าของการใช้งานแก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ 100% หรือ Zero Waste Cup ที่เริ่มนำมาใช้ภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังเมื่อต้นเดือน ส.ค. 2561 ว่าปัจจุบันสามารถทดแทนการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้แล้วมากกว่า 95% โดยมีการใช้งานไปแล้วใน 11 โรงอาหาร จากทั้งหมด 17 โรงอาหารทั่วมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ล่าสุดอธิการบดีได้เซ็นคำสั่งออกประกาศมหาวิทยาลัย ระบุให้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2562 ซึ่งจะตรงกับวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 102 ปี ทุกโรงอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์หนังสือ ตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ และร้านสหกรณ์ต่างๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องใช้เพียงแก้วที่ล้างได้ หรือแก้วที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เท่านั้น รวมถึงถุงพลาสติกที่จะไม่มีการแจกฟรีอีกต่อไป โดยให้มีจำหน่ายเฉพาะถุงที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% หรือถุงที่สามารถย่อยสลายได้ 100%
ขณะเดียวกันในส่วนของหลอด ช้อน และส้อมพลาสติก ก็จะไม่มีการแจกให้โดยอัตโนมัติ แต่จะให้ต่อเมื่อมีการร้องขอ หรือนำไปไว้ในจุดที่เข้าถึงได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับส่วนของร้านค้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น บริเวณสยาม จามจุรีสแควร์ ฯลฯ ที่จะงดแจกถุงพลาสติกเมื่อซื้อของน้อยชิ้น รวมถึงเปลี่ยนไปใช้กล่องชานอ้อย และงดการให้หลอด ช้อน ส้อมพลาสติกโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2561
ศ.ปราโมช กล่าวว่า ที่ผ่านมาภายในมหาวิทยาลัยมีการใช้แก้วพลาสติกปีละประมาณ 2 ล้านใบ หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.6 แสนใบ ซึ่งความสำเร็จของ Zero Waste Cup เกิดจากการใช้ 3 กลไก คือ 1. ด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ผู้ใช้พลาสติกแบกภาระค่าใช้จ่าย 2. ด้านเทคโนโลยี การนำแก้วกระดาษเข้ามาใช้ 3. การจัดการครบวงจร คัดแยกแก้วกระดาษใช้แล้วเพื่อนำไปย่อยสลายเป็นปุ๋ย ซึ่งกลไกเหล่านี้ได้สร้างความตระหนักให้กับนิสิต และเกิดความพยายามผลักดันไปใช้ในงานอื่นๆ เช่น งานรับปริญญา หรืองานรับน้อง กันมากขึ้น
“มีหลายคนสนใจนำแก้วไปใช้ แต่เมื่อรู้ราคาและกระบวนการจัดการ ส่วนใหญ่ก็จะถอยไป เพราะว่าแก้วไม่ใช่แค่เอาไปใช้แล้วจะ zero waste แต่ขึ้นกับว่าจะจัดเก็บอย่างไร นำไปจัดการต่ออย่างไร ซึ่งในจุฬาฯ เริ่มใช้มาประมาณ 4 เดือน ลดแก้วพลาสติกไปได้แล้วกว่า 3.8 แสนใบ หรือประมาณ 5.7 ตัน ซึ่งโครงการต่อไปในอนาคตก็มีผลิตภัณฑ์บางตัวที่กำลังดูอยู่ เช่น หลอด หรือถาดใส่อาหาร ที่อาจนำมาใช้เป็นโมเดลเดียวกัน” ศ.ปราโมช ระบุ
ด้าน นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMAT กล่าวว่า ในส่วนของแก้วกระดาษที่ใช้งานแล้วบางส่วน ยังได้มีหน่วยงานที่ขอรับไปใช้เพื่อใส่ต้นกล้าในการเพาะปลูก เพราะเมื่อปักลงดินแล้วแก้วสามารถย่อยสลายได้ ทดแทนการใช้ถุงดำ โดยขณะนี้ได้มีการร่วมพูดคุยกับกรมป่าไม้บ้างแล้วเพื่อหารือถึงการนำไปใช้ ซึ่งกรมป่าไม้มีการแจกกล้าไม้ปีละกว่า 40 ล้านต้น หากทำได้ก็จะยิ่งทำให้แก้วมีประโยชน์มากกว่าเพียงนำไปฝังกลบให้ย่อยสลาย

ที่มา : greennews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad