“จุรินทร์”เผยไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว คาดต้นปี 65 FTA ใหญ่สุดของโลกบังคับใช้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“จุรินทร์”เผยไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว คาดต้นปี 65 FTA ใหญ่สุดของโลกบังคับใช้

img

“จุรินทร์”เผยไทยยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว คาดม.ค.65 มีผลบังคับใช้ ระบุจะเกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทย หลังสินค้า 29,891 รายการลดภาษี 0% ทันที และยังได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเน่าเสีย ที่มีความรวดเร็วขึ้น การค้าออนไลน์ที่มีกฎ กติกา ชัดเจนขึ้น และยังดึงดูดการลงทุน ขยายการค้าบริการ
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ไทยได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งการบังคับใช้ กำหนดเงื่อนไขไว้ คือ ต้องมีประเทศอาเซียนไม่น้อยกว่า 6 ประเทศจาก 10 ประเทศ ให้สัตยาบัน และประเทศนอกอาเซียนที่มี 5 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศ รวมเป็น 3+6 เป็น 9 ประเทศ และขณะนี้กลุ่มอาเซียนมีแนวโน้มว่าจะให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศแล้ว ประกอบด้วย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งไทย ที่เพิ่งยื่นให้สัตยาบัน ส่วนประเทศนอกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นไปแล้ว ถ้ามีอีกหนึ่งประเทศ ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข โดยคาดว่าต้นปีหรือเดือนม.ค.2565 จะมีผลบังคับใช้
         
สำหรับความตกลง RCEP หลังบังคับใช้ จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก

ทั้งนี้ RCEP จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไทย โดยการส่งออกภาษีเป็น 0% อย่างน้อย 39,366 รายการ โดยลดเหลือ 0% จำนวน 29,891 รายการทันทีที่บังคับใช้ ตลาด RCEP จะเป็นการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในการส่งออก เมื่อสินค้าไปสู่ด่าน ถ้าเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผัก และสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย

นอกจากนี้ จะมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือระบบออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดขึ้น และผู้บริโภคของไทย ก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP

ขณะเดียวกัน ไทยจะได้รับประโยชน์ในการที่มีผู้มาลงทุน และยังสามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น โดยภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจการก่อสร้าง ในกลุ่มประเทศอาเซียน เรามีศักยภาพแข่งขันได้ดีมากประเทศหนึ่ง การค้าปลีก การไปเปิดห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ด้านบันเทิงแอนิเมชัน เป็นต้น และไทยยังมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น นี่ก็คือประโยชน์ที่ได้รับจาก RCEP ที่เป็นรูปธรรม

รายงานข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ RCEP ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้สนใจ สามารถศึกษาผ่านศูนย์บริการ RCEP Center ของกระทรวงพาณิชย์ได้ โดยสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทร 02-507-7555 หรือเว็บไซต์www.dtn.go.th

สำหรับการค้าระหว่างไทย–RCEP มีมูลค่ารวม 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.5% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของการส่งออกไทยไปโลก ไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.1% ของการนำเข้าไทยจากโลก  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad