ฮิตาชิได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการระบบ ในโครงการนำร่องระบบบริหารจัดการการตอบสนองอุปสงค์พลังงานไฟฟ้า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฮิตาชิได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการระบบ ในโครงการนำร่องระบบบริหารจัดการการตอบสนองอุปสงค์พลังงานไฟฟ้า

             ฮิตาชิได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการระบบ

ในโครงการนำร่องระบบบริหารจัดการการตอบสนองอุปสงค์พลังงานไฟฟ้า

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟและให้สมดุลกับอุปสงค์ในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย

ส่งเสริมการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้และมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 - ในวันนี้ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของโตเกียวหมายเลย 6501) และ บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ได้ประกาศว่าทั้งสองบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ร่วมโครงการนำร่องด้านการตอบสนองด้านโหลด*1 (“DR”) ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“กฟผ.”) ในฐานะหนึ่งในคู่ค้าผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการอุปสงค์พลังงานไฟฟ้า (DRMS)*2

 

โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการออกแบบและการใช้งานระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าและความสมดุลของอุปสงค์ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด*3 ที่นำโดยรัฐบาลไทย

 

โครงการสาธิตนี้จะยึดหลักการออกแบบระบบ DR ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างระบบสมาร์ทกริด*4 ที่สามารถขยายศักยภาพของการนำระบบพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผ่านการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของระบบกระจายกำลังไฟฟ้าต่างๆ

 

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเป็นแหล่งพลังงานหลักในประเทศของประเทศไทย เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน กระทรวงพลังงานจึงวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561*5(PDP) ซึ่งประกาศใช้ปี พ.ศ. 2562 มีผลครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2580 โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลของการใช้แหล่งพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยวางกรอบนโยบายในการคงการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสมเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ลดการพึ่งพาพลังงานความร้อนให้น้อยลงถึง 10% และนำพลังงานแสงอาทิตย์และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มาใช้ ด้วยการขยายตัวของปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้ความยุ่งยากซับซ้อนในระบบบริหารจัดการพลังงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ในการที่จะปรับอุปสงค์พลังงานให้ตอบสนองกับสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างกระหันทัน  ดังนั้นจึงต้องมีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้ในการรักษาระบบที่รักษาระดับอุปสงค์และอุปทานให้สมดุลกัน ซึ่งระบบ DR ใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฮิตาชิ ได้สั่งสมเทคโนโลยี ข้อมูลเชิงลึก และองค์ความรู้ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการสาธิตนำร่องต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ นับย้อนไปตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการเริ่มใช้เทคโนโลยี DR ฮิตาชิได้มีส่วนร่วมในโครงการสาธิตนำร่องสมาร์ทกริด*6 ในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา และมีส่วนร่วมในโครงการนำร่องในการสร้างโรงไฟฟ้าเสมือน*7 (“VPP”) ของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2559-2563) *8 ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (“METI”) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวาเซดะ และแผนกจ่ายกระแสไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าต่างๆ เพื่อส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีและระบบ DR และ VPP ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสถาบันมาตรฐานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น

 

สำหรับโครงการในประเทศไทยนี้ ฮิตาชิจะนำโซลูชั่น DR และ VPP พร้อมด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี มาใช้จัดวางระบบที่สามารถนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ที่กระจายศูนย์อยู่ มาบริหารจัดการรวมได้อย่างครอบคลุมเสมือนเป็น VPP เพียงแห่งเดียว

 

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จะเริ่มดำเนินโครงการนี้ด้วยการสร้างและทดลองระบบ โดยได้การสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมี กฟผ. เป็นผู้ประเมินการทดสอบระบบในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 - ธันวาคม พ.ศ. 2565 นอกเหนือจากการนำเสนอโซลูชั่น Hitachi DR และ VPP ที่มีสถิติการใช้งานที่ดีเยี่ยมในญี่ปุ่น อีกทั้งยังสามารถช่วยพัฒนาระบบได้อย่างรวดเร็ว ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) ยังจะได้ดำเนินการสนับสนุนและฝึกอบรมทางเทคนิคเพื่อช่วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กฟผ. ในการดำเนินงาน ด้วยการวางระบบที่รองรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยให้ระบบสมาร์ทกริดของไทยมีความล้ำหน้าไปยิ่งขึ้นในอนาคต

 

จากผลของโครงการนี้ ฮิตาชิจะขยายการดำเนินงานจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านระบบการสร้างเสถียรภาพการใช้พลังงานจากญี่ปุ่น โซลูชั่นที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ DR และ VPP แบบมีสมาร์ทกริดเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการลดการปล่อยคาร์บอน และจัดสรรพลังงานได้อย่างมั่นคง

 

*1 DR  Demand Response (การตอบสนองด้านโหลด): หมายถึงการที่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าดำเนินการลดและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยใช้ค่าไฟและเกณฑ์แรงจูงใจ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้ใช้ (ครัวเรือนและบริษัท) เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้า สิ่งนี้เรียกว่า "การตอบสนองด้านโหลด" เนื่องจากผู้ใช้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้า

*2 DRMS ​​(ระบบการจัดการการตอบสนองด้านโหลด): ระบบที่บริหารจัดการ การประกาศใช้การตอบสนองด้านโหลด

*3 แผนแม่บทการพัฒนาสมาร์ทกริด: หมายถึงนโยบายและมาตรการที่วางแผนไว้สำหรับการพัฒนาสมาร์ทกริดในประเทศไทย 4 ขั้นตอน มีการกำหนดวิธีดำเนินการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงมาตรการรับมือกับความผันผวนของปริมาณผลผลิตที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นๆ อันประกอบด้วยระบบการจัดการพลังงาน ระบบการตอบสนองด้านโหลด ระบบกักเก็บพลังงาน และการพยากรณ์อากาศ

*4 สมาร์ทกริด: โครงข่ายไฟฟ้าขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าและแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเทคโนโลยีการควบคุม

*5 แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561: แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า ที่รวมไปถึงการกระจายการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

*6 ข่าวเผยแพร่ในวันที่ 17 ธันวาคม 2556: "ฮิตาชิ เริ่มดำเนินการโรงงานนำร่องในโครงการโครงข่ายกริดไฟฟ้าระหว่างญี่ปุ่นกับกริดไฟฟ้าเกาะของสหรัฐอเมริกาในฮาวาย" https://www.hitachi.com/New/cnews/131218.html

*7 โรงไฟฟ้าเสมือน (VPP): เทคโนโลยีที่ใช้เทคโนโลยี IoT มาควบคุมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นๆ ตลอดจนแหล่งทรัพยากรพลังงานจากแบตเตอรี่กักเก็บและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเสมือนเป็นโรงไฟฟ้าเดี่ยว

*8 โครงการริเริ่มที่ METI ให้ทุนบางส่วนในโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง VPP

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)

https://www2.hitachi.com/inquiry/region/thailand/th/general/form.jsp

 

 

เกี่ยวกับบริษัท ฮิตาชิ จำกัด

บริษัท ฮิตาชิ จำกัด (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของโตเกียวหมายเลย 6501) มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่รวมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เทคโนโลยีการดำเนินงาน (OT) และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้าทำงานร่วมกัน รายได้รวมของบริษัทฯ สำหรับปีงบประมาณ 2563 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564) มีมูลค่ารวม 8,729.1 พันล้านเยน (78.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีบริษัทย่อยรวม 871 แห่ง และพนักงานประมาณ 350,000 คนทั่วโลก ฮิตาชิกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้กับลูกค้าใน 6 กลุ่มหลักคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ, พลังงาน, อุตสาหกรรม, การขนส่ง, การใช้ชีวิตแบบอัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติ ผ่าน Lumada ซึ่งเป็นโซลูชั่นดิจิทัล ระบบบริการ และเทคโนโลยีขั้นสูงของฮิตาชิ ที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฮิตาชิ โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่https://www.hitachi.com

 

เกี่ยวกับ บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ให้บริการโซลูชั่นระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)  มุ่งเน้นการให้บริการที่เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities), ระบบการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) และ บริการสาธารณะแบบอัจฉริยะ (Smart Public Service) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนช่วยเหลือชุมชนในฐานะพลเมืองขององค์กรที่มีความรับผิดชอบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad