พืชสัตว์ทั่วโลกกำลังสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ IUCN เรียกร้องชาวโลกเร่งอนุรักษ์ก่อนสาย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พืชสัตว์ทั่วโลกกำลังสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ IUCN เรียกร้องชาวโลกเร่งอนุรักษ์ก่อนสาย

พืชสัตว์ทั่วโลกกำลังสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ IUCN เรียกร้องชาวโลกเร่งอนุรักษ์ก่อนสาย


คาราบาว
กระโหลกควายป่า ที่ประเทศแทนซาเนีย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เรียกร้องประชาคมในเวทีประชุม IUCN Species Survival Commission (SSC) ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้เร่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและเร่งฟื้นฟูประชากรสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามโดยด่วน หลังเปิดเผยว่าโลกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์
ข้อเรียกร้องจากเวทีประชุม IUCN SSC ได้เสนอให้ประชาคมโลกร่วมมือกันในทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญพันธุ์โดยน้ำมือมนุษย์อย่างเร่งด่วนภายในปีพ.ศ. 2573 รวมถึงปรับปรุงแนวทางการอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูชนิดสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ให้มีประชากรมากขึ้นภายในปีพ.ศ. 2593
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว IUCN ย้ำว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลกจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันจัดการกับสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเช่น การทำเกษตรและประมงแบบทำลายล้าง การลักลอบล่าค้าสัตว์ป่า โรคระบาด การก่อสร้างกีดขวางลำน้ำ การจัดการขยะอย่างไม่เหมาะสม การแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่นคุกคาม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) รวมไปถึงสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและสังคมมีความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาให้สายพันธุ์พืชและสัตว์ยังคงอยู่กับโลกต่อไป
ข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้จะมีการประกาศย้ำอีกครั้งในเวที IUCN World Conservation Congress ระหว่างวันที่ 11 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563 นี้ ที่นครมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส
“IUCN พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเยาวชนทั่วโลก ในการร่วมกันผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างกว้างขวาง เพื่อรับมือกับวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น” รักษาการแทนผู้อำนวยการ IUCN ดร. Grethel Aguilar กล่าว
IUCN ระบุว่า ขณะนี้มีชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ถูกจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่ถึงราว 28,000 ชนิดจากกชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ได้รับการประเมินแล้วประมาณ 406,000 ชนิด โดยยังมีสิ่งมีชีวิตอีกกว่า 1.5 ล้านสายพันธุ์ ที่ยังไม่ได้รับการประเมิน และคาดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน
ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับรายงานของ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เมื่อปีพ.ศ. 2561 ที่ระบุว่าประชากรของสายพันธุ์สัตว์ทั่วโลกได้ลดลงกว่า 60% ภายในช่วงระยะเวลาเพียงราว 40 ปี ระหว่างพ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ.2557
ยีราฟมาไซ
ยีราฟมาไซ ในประเทศแทนซาเนีย จากข้อมูลของ IUCN ยีราฟสายพันธุ์นี้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และมีประชากรอยู่เพียงราว 35,000 ตัวเท่านั้น / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
ดร. Jane Smart ผู้อำนวยการ IUCN’s Biodiversity Conservation Group กล่าวย้ำว่า การตัดสินใจที่เฉียบขาดเพื่อเร่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในปีพ.ศ.2563 เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะสถานการณ์วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในขณะนี้ถือว่าน่าวิตกอย่างยิ่ง เนื่องจากพืชและสัตว์หลายสายพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ และเป็นแหล่งที่มาของรายได้และทรัพยากรที่จุนเจือวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากกำลังสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว
“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคตจะยังคงสามารถพึ่งพิงแหล่งทรัพยากรที่สำคัญจากความหลากหลายทางชีวภาพได้” ดร. Smart กล่าว
รายงานของ WWF ระบุตรงกันถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมนุษย์ว่า ระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของโลกได้ให้บริการของระบบนิเวศ (ecosystem service) ในรูปแบบของ แหล่งอาหาร ยา และทรัพยากรที่สำคัญต่อมนุษย์เป็นมูลค่ามากกว่า 125 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
IUCN เน้นย้ำว่าประชาคมโลกจำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายให้สูงและชัดเจน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากได้รับบทเรียนสำคัญจากการพลาดเป้าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ประชาคมโลกได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ. 2553
ซากเต่าทะเล
ซากเต่าทะเลที่พบลอยเกยตื้นในจ.ชลบุรี //ขอบคุณภาพจาก: ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ
อนึ่ง ข้อมูล Fact Sheet ของ Earth Day Network ระบุว่าโลกกำลังเผชิญกับอัตราการสูญพันธุ์สูงที่สุดนับตั้งแต่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน โดยอัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันสูงกว่าอัตราปกติราว 1,000 ถึง 10,000 เท่า ด้วยอัตราการสูญพันธุ์ที่รวดเร็วเช่นนี้ ประมาณการว่าในแต่ละวันจะมีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตอย่างน้อยหนึ่งสายพันธุ์สูญพันธุ์ไปตลอดกาล โดยสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ได้แก่ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การตักตวงทรัพยากรเกินพอดีของมนุษย์ และสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับในประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้ข้อมูลว่ามีสัตว์อย่างน้อย 6 ชนิดกำลังตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ได้แก่ ตัวลิ่น เต่ามะเฟือง นกแต้วแล้วท้องดำ พะยูน นกชนหิน และควายป่า จากสาเหตุใหญ่ๆได้แก่ การสูญเสียแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ การลักลอบล่าค้าสัตว์ป่า ผลกระทบจากการประมง การท่องเที่ยว และมลพิษขยะในทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad