อุตฯเชียงใหม่ยัน เหมืองอมก๋อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่ เพราะถ่านหินเอาไปเผาใช้ที่ลำปาง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

อุตฯเชียงใหม่ยัน เหมืองอมก๋อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่ เพราะถ่านหินเอาไปเผาใช้ที่ลำปาง

อุตฯเชียงใหม่ยัน เหมืองอมก๋อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่ เพราะถ่านหินเอาไปเผาใช้ที่ลำปาง



สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ เผย โครงการเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อมชุมชนในพื้นที่แน่นอน เพราะถ่านหินจะไม่เผาใช้ในพื้นที่ แต่จะขนส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่จ.ลำปาง ผลกระทบจึงไม่เกิดแก่ชาวเชียงใหม่แน่นอน ด้านนักวิชาการย้ำต้องฟังเสียงความต้องการชาวบ้าน พร้อมติงให้ชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสียโครงการให้ดี ก่อนการทำเหมืองจะทำสิ่งแวดล้อมเสียหายถาวร
ชัยยุทธ สุขเสริม หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลผู้ประกอบการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ กล่าวระหว่างเวทีเสวนา “วิกฤตโลกร้อน ฝุ่น PM2.5 และถ่านหินอมก๋อย” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า การดำเนินโครงการเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.อมก๋อย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และยังสร้างงานและความเจริญให้กับพื้นที่ เพราะการผลิตถ่านหินเพิ่มเติมจากแหล่งอมก๋อยจะเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก และจะช่วยลดการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังไม่สร้างมลพิษให้กับชุมชนในพื้นที่ด้วย
ชัยยุทธ สุขเสริม
ชัยยุทธ สุขเสริม หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลผู้ประกอบการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
“การทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เพราะว่าการผลิตทำแร่จะไม่มีการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน นอกจากนี้ถ่านหินจากเหมืองอมก๋อยจะถูกนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ที่จ.ลำปาง ไม่ได้เผาที่เชียงใหม่ ดังนั้นชาวเชียงใหม่จึงสามารถวางใจได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเผาถ่านหินแน่นอน” ชัยยุทธกล่าว
“ยิ่งไปกว่านั้น ถ่านหินจากแหล่งแร่อมก๋อยยังเป็นถ่านหินชนิดซับบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพดีและสะอาดกว่าถ่านหินลิกไนต์ที่ผลิตได้จากเหมืองแร่ถ่านหินแม่เมาะ ปริมาณซัลเฟอร์ต่ำกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากนี้เทคโนโลยีสมัยนี้ยังทำให้การเผาถ่านหินปลดปล่อยมลพิษน้อยลงมากอีกด้วย”
ชัยยุทธอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 40 ล้านตันต่อปี โดยไทยสามารถผลิตถ่านหินได้เองจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะราว 2 ล้านตันต่อปี โดยความต้องการส่วนที่เหลือจำเป็นต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ดังนั้นเขาจึงกล่าวว่า การทำเหมืองแร่ถ่านหินที่อ.อมก๋อยจะช่วยให้ประเทศมีแหล่งพลังงานราคาถูก และสามารถลดการนำเข้าถ่านหินได้
ข้อมูลจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยระบุว่า โครงการดังกล่าวมีบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เป็นบริษัทเจ้าของโครงการ โดยมีแผนทำเหมืองแร่ถ่านหินแบบเหมืองเปิดหน้าดิน บนเนื้อที่ขนาด 284 ไร่ 30 ตารางวา ที่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย
ถ่านหิน
ก้อนถ่านหินขนาดเล็กสามารถพบได้ทั่วไปในลำธารบริเวณพื้นที่อาชญาบัตรเหมืองถ่านหินอมก๋อย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัฃญ์ รุจิวนารมย์
ชัยยุทธกล่าวว่า เหมืองแร่ถ่านหินแห่งนี้มีปริมาณแร่ถ่านหินอยู่ราว 720,000 ตัน มีศักยภาพในการผลิตถ่านหิน 120,000 ตันต่อปี ดังนั้นเหมืองแห่งนี้จะสามารถดำเนินการผลิตได้ราว 10 ปีก่อนที่ปริมาณถ่านหินในพื้นที่จะหมดไป
ขณะเดียวกัน อ.นัทมน คงเจริญ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาว่า หลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของโครงการในพื้นที่ 2 หมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองเมื่อวันที่ 28 กันยายน ต้องเลื่อนออกไป ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำประชาพิจารณ์โครงการใหม่ที่ให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจะต้องถือมติของชุมชนเป็นที่สุด หากชุมชนไม่เอาเหมืองก็ต้องไม่มีการเปิดเหมือง มิใช่แค่นำการลงมติของชาวบ้านเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในการตัดสินใจอนุมัติโครงการเท่านั้น
นอกจากนี้ อ.นัทมน เสนอว่า การรับฟังความคิดเห็นไม่ควรจำกัดแต่เพียงชาวบ้านในพื้นที่ 2 หมู่บ้านรอบเหมือง แต่ควรขยายไปยังกลุ่มผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบรายทางจากการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม จากทั้งการขนส่งถ่านหินไปยังโรงงานปูนซีเมนต์ และมลพิษทางน้ำจากการทำเหมืองแร่ต่อชุมชนตลอดลำน้ำ โดยให้มีองค์กรที่เป็นกลางทางวิชาการมาทำความเข้าใจให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจได้
อย่างไรก็ดี อ.นัทมน ตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของการพัฒนาโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน โดยระบุว่า ถ่านหินเป็นทรัพยากรใช้แล้วหมดไปและด้วยเทรนด์ของโลก หลายๆประเทศกำลังเลิกใช้ถ่านหิน ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากเราเลิกการใช้ถ่านหิน และปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและเทคโนโลยีหันไปใช้พลังงานสะอาดชนิดอื่นๆแทน
อ.นัทมน คงเจริญ
อ.นัทมน คงเจริญ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อ.นัทมนยังเสนอให้มีการวางเงินประกันในการฟื้นฟูเหมืองไว้ล่วงหน้า หากจะมีการดำเนินโครงการจริงๆ โดยให้เหตุผลว่า ต้นทุนของถ่านหินแท้จริงแล้วมีราคาสูงมาก ต่างจากราคาถ่านหินที่ค่อนข้างถูก เพราะไม่ได้คิดค่าความเสียหายทางระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชุมชนที่ต้องสูญเสียไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่บริษัทจะต้องมีการวางเงินประกันเพื่อฟื้นฟูเหมืองไว้ล่วงหน้า เพราะราคาของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมนั้นสูงมาก และมีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายแล้วเมื่อบริษัทตักตวงผลประโยชน์จากพื้นที่ไปจนหมด จะปัดความรับผิดชอบในการฟื้นฟูเหมือง
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การลงทุนทำเปิดเหมืองถ่านหินที่อ.อมก๋อยต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียจากโครงการว่าการลงทุนแลกความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมกับถ่านหินที่จะได้จะมีความคุ้มค่ามากกว่ากันเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีการคำนึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบคอบ
“จากกรณีแม่เมาะ เราพบว่าชาวบ้านรอบเหมืองถ่านหินเจ็บป่วยจากมลพิษจากการทำเหมืองมากว่า 30 ปี พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากปอดเสียหายจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นหินจากการทำเหมืองแบบเหมืองเปิดแบบที่จะทำที่อมก๋อย ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กไปกระทบสุขภาพชาวบ้านอย่างกว้างขวาง จนตอนนี้ชาวบ้านแม่เมาะตายไปหลายคนแล้ว” รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว
รศ.ดร.วรวิทย์ ทิ้งท้ายว่าหากไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบแล้ว หากมีการเปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ที่อมก๋อย จะทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ตกอยู่ในความเสี่ยงด้านสุขภาพจากมลพิษเหมืองถ่านหินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเสวนา “วิกฤตโลกร้อน ฝุ่น PM2.5 และถ่านหินอมก๋อย” จัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ต่อกรณีมลพิษฝุ่นควัน PM2.5 และโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad