วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ผนึกพลังสู้ PM2.5 พัฒนา Sensor for All ระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะ แอพพลิเคชันที่คิดค้นโดยคนไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ผนึกพลังสู้ PM2.5 พัฒนา Sensor for All ระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะ แอพพลิเคชันที่คิดค้นโดยคนไทย




 วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ผนึกพลังสู้ PM2.5 

พัฒนา Sensor for All ระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะ แอพพลิเคชันที่คิดค้นโดยคนไทย

     คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าพัฒนาโครงการ Sensor for All ปีที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือกับ GISTDA พร้อมด้วยองค์กรชั้นนำของไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ ไมโครซอฟท์ ทรู และเอไอเอส หวังกระจายระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะที่คิดค้นโดยคนไทยให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นำข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุฝุ่นพิษ สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

     วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงข่าวและประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.พัชราวดี สุวรรณธาดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ว่า Innovation toward Sustainability หรือการอุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ กับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program) หรือ ILP เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และมลภาวะทางอากาศตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้เป็นแกนหลักในการผนึกพลังทุกภาคส่วนที่เห็นถึงปัญหาเดียวกันนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาช่วยหาสาเหตุ เก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
     “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ประกอบกับข้อมูลปริมาณฝุ่นที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้โครงการ Sensor for All ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ปีที่ 2 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และในปีที่ 3 นี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ร่วมมือขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อีกทั้งได้พัฒนาระบบแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันสำหรับขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้ร่วมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง เพื่อมุ่งสู่การสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในระดับปัจเจก จนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” 

     นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการ Sensor for all สอดคล้องกับนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนของ กฟผ. โดยความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. จะนำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาบูรณาการร่วมกับโครงการ Sensor for all ในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเมือง พร้อมสนับสนุนการติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติมและร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์มระดับประเทศในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่ง กฟผ. สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ประกอบการวางแผนการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ด้วย นอกจากนี้ กฟผ. จะสนับสนุนทุนผ่านกิจกรรมระดมทุนในโครงการนี้ เพื่อร่วมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศรวม 200 จุดในบริเวณพื้นที่ กฟผ. และเครือข่ายโรงเรียนในโครงการ “ห้องเรียนสีเขียว” ทั่วประเทศ 

     นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมภายใต้โครงการ Sensor for All มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับรู้และตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการและแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นในระยะยาวตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน โดยปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 12 เครื่อง ที่บริเวณสำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติและสำนักงานเคหะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้คาดว่าจะติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป

     นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ให้ความสนใจและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์ค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์ เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISDTA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

     นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ตั้งใจที่จะช่วยเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนใบโลกนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนไปพร้อมกัน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ได้สนับสนุนโครงการ Sensor for All ในรูปของทรัพยากรคลาวด์เพื่อทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยการสนับสนุนในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกภายใต้ชื่อ AI for Earth ที่สนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่สถานะ Carbon Negative ภายในปี 2573 ด้วยการลบล้างมลภาวะคาร์บอนในปริมาณเทียบเท่ากับที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมทั้งหมดนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา 

     “ทั้งนี้ องค์กรภาครัฐ เอกชน หรือผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการระดมทุน Sensor for All ปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนการผลิตและติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา Online Platform ควบคู่ไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่านหนังสือ “ยุทธการดับฝุ่น” และบอร์ดเกม Just Dust เพื่อขยายผลสู่การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศต่อไป โดยบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชี “กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ”ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจามจุรี สแควร์ เลขที่ 405-4-13788-7 ซึ่งสามารถนำยอดบริจาคนี้ ไปหักภาษีได้ 2 เท่าอีกด้วย” ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หัวหน้าโครงการและรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในที่สุด
                                                                                             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad