“โชวห่วยไทย”ไม่ธรรมดา - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

“โชวห่วยไทย”ไม่ธรรมดา

img

“โชวห่วยไทย”ไม่ธรรมดา

ใครจะไปเชื่อ วันนี้มีร้านโชวห่วยเจ้าของคนไทย ซึ่งเป็นกิจการเล็กๆ ที่เริ่มต้นทำธุรกิจในจังหวัด และเติบโตในระดับจังหวัด ได้มีการเข้าไประดมทุนและซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ MAI ได้แล้วถึง 2 บริษัท และ 2 บริษัทที่ว่า ก็คือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) จ.เชียงราย และบริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมหน้าร้านโชวห่วยของไทยว่ามีฝีมือจริง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และยังสามารถต่อกรกับร้านค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่  ห้างโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อ ที่มีอยู่ทุกหัวมุมเมืองได้  
         
ทั้ง 2 รายนี้ นอกจากเป็นธุรกิจในระดับจังหวัด เติบโตมาในจังหวัด ยังเป็นบริษัทแรกๆ ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ได้เข้าไปช่วยวางระบบการบริหารจัดการธุรกิจ การทำธุรกิจให้มีมาตรฐานสากล จนวันนี้ ได้มีขยายสาขาครอบคลุมไปแล้วหลายจังหวัด และยังมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้ในระดับประเทศ โดยปัจจุบัน ธนพิริยะ มีสาขารวมทั้งสิ้น 28 สาขา แบ่งออกเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต 27 สาขา และศูนย์ค้าส่ง 1 สาขา ส่วนเคแอนด์เค มีสาขารวมทั้งสิ้น 28 สาขา
         
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจทั้งของกรมฯ และร้านค้าที่ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แสดงถึงความมีศักยภาพของร้านค้าโชวห่วยไทย ทำให้ธุรกิจในภาพรวมมีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย รวมถึงเป็นแหล่งกระจายสินค้าท้องถิ่นและสินค้าชุมชนของประเทศ
         
ทั้งนี้ หากสรุปผลการดำเนินการช่วยเหลือและผลักดันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบขนาดกลางถึงใหญ่ ที่ได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 213 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และตามแผนนับจากนี้ จะเดินหน้าผลักดันให้มีการเติบโตมากขึ้น และเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
      
“ล่าสุดมีร้านค้าโชวห่วยขนาดใหญ่ที่เป็นดาวเด่นที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 2 ร้าน อยู่ในจังหวัดกระบี่และอุบลราชธานี ซึ่งร้านค้ากำลังแต่งตัวธุรกิจให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างช่องทางการระดมทุนระยะยาว เพิ่มโอกาสในการลงทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและขยายธุรกิจ”นายทศพลกล่าว
         
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อม กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้ม ต้องมีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงมีระบบบัญชี ระบบควบคุมภายในที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย
         
นายทศพล บอกว่า กรมฯ ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ โดยได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านค้าโชวห่วยกลุ่มนี้ ในการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ การกำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้น และปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อการเข้าจดทะเบียน โดยเบื้องต้น กรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงสถานประกอบการในการให้คำปรึกษาเชิงลึก การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับกลยุทธ์และแผนการตลาด รวมถึงคำแนะนำขั้นตอนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว

ทีนี้ ลองหันมาดูร้านโชวห่วยของไทยทั้งระบบ พบว่า ในปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีกจำนวนทั้งสิ้น 4 แสนกว่าร้านค้า แบ่งเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่-กลาง (นิติบุคคล) จำนวน 18,735 ร้านค้า และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ร้านโชวห่วย ประมาณ 400,000 ร้านค้า
         
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ มีแผนช่วยทั้งร้านค้าส่งค้าปลีกรายกลาง ใหญ่ และรายเล็ก จนถึงรายจิ๋ว โดยรายกลางรายใหญ่ ได้ช่วยพัฒนาไปแล้ว กว่า 213 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และในจำนวนนี้ ก็จะดันต่อให้เป็นพี่เลี้ยงให้กับรายย่อย รายจิ๋ว และถ้าใครโดดเด่น ก็จะผลักดันเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างที่กล่าวมาแล้ว ส่วนรายย่อย รายจิ๋ว พัฒนาไปแล้ว 2 หมื่นกว่าราย ปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้อีก 3,500 ราย

สำหรับแผนพัฒนาโชวห่วยรายย่อย รายจิ๋ว ได้กำหนดกิจกรรมไว้แล้ว ภายใต้ชื่อ “พัฒนาศักยภาพร้านค้าปลีกสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย” กำหนดการลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย.2564 ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคของประเทศ มีจังหวัดเป้าหมาย เช่น เชียงใหม่ ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู สงขลา พังงา เป็นต้น  

ส่วนรายละเอียดแผนการพัฒนา จะนำผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เรื่องบัญชี ภาษี การปรับปรุงร้านค้าให้มีความทันสมัย สวยงาม สะอาด และมีความสะดวกสบายในการเลือกหาสินค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการภายในร้าน รวมถึงสอนเทคนิคการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคละแวกร้านค้าเบื้องต้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรืออาศัยลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเก็บข้อมูล เพื่อให้เข้าถึงความต้องการสินค้าของลูกค้าอย่างแท้จริง ก่อนนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายภายในร้าน ทำให้ไม่ต้องสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น สินค้าที่ได้รับความสนใจน้อยหรือไม่ได้รับความสนใจเลยก็ไม่จำเป็นต้องนำมาจำหน่าย เป็นการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ ทำให้ร้านค้าโชวห่วยมีสินค้าที่เข้าคอนเซป “ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้บ้าน” ช่วยให้ผู้ประกอบการโชวห่วยท้องถิ่นสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

“ได้เตรียมแพ็คเกจรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับร้านค้าโชวห่วยแต่ละขนาด เปรียบเสมือนการเตรียมอาวุธให้ผู้ประกอบการอย่างครบมือ ทั้งความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่ทยอยออกมา เช่น การร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่จัดชุดอุปโภคบริโภคช่วยเหลือร้านโชวห่วยขนาดเล็กเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การประสานสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ การช่วยขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-channel) ช่วยหาเครื่องมือและระบบที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการร้านค้า โดยร่วมกับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ในการผลักดันร้านค้าโชวห่วยให้ใช้ระบบ POS ทั่วประเทศ ปีนี้ตั้งเป้าผลักดันให้ได้กว่า 500 ร้านค้า ซึ่งจะทำให้ร้านค้าโชวห่วยสามารถทำบัญชีได้ง่ายขึ้น บริหารสต๊อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ อันจะทำให้ร้านค้าโชวห่วยขนาดเล็กเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว”นายทศพลกล่าว

จะเห็นได้ว่า โชวห่วยไทยไม่ได้ถูกทอดทิ้ง มีภาครัฐอย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ช่วยทั้งโชวห่วยรายใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว จนทำให้วันนี้ โชวห่วยไทยหลายราย สามารถเติบโต คงอยู่ และยืนหยัดต่อสู้กับร้านค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อได้ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่า โชวห่วยคนไทย จะสู้ด้วยหรือไม่ ถ้าสู้ก็อยู่รอด และเติบโตได้ แต่ถ้าไม่สู้ ก็ต้องแพ้ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad