สวพส. เผยการวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชง (เฮมพ์) พืชเศรษฐกิจทางเลือก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สวพส. เผยการวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชง (เฮมพ์) พืชเศรษฐกิจทางเลือก

 



สวพส. เผยการวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชง (เฮมพ์) พืชเศรษฐกิจทางเลือก
คาดเคาะราคาเมล็ดพันธุ์ในเดือนเมษายน 64

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เผยข้อมูลการวิจัยและพัฒนากัญชงหรือ เฮมพ์ พร้อมผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ซึ่งจากผลการวิจัยขณะนี้สามารถพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ 4 พันธุ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร คือ RPF1 , RPF2 , RPF3 และ RPF4 ซึ่งเป็นพันธุ์สำหรับผลิตเส้นใยโดยมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% ปริมาณสารที่เป็นประโยชน์CBD 0.8-1.2% และมีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำกว่า 0.3% และคาดว่าจะได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มอีก 5 พันธุ์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณและคุณภาพของเมล็ด รวมทั้งการกำหนดราคาและแนวทางการบริหารจัดการ โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณเดือนเมษายน 2564



            นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2547สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกกัญชงอย่างจริงจังในประเทศไทย ความว่า “....สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้...... คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่1 มีนาคม 2548 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและพิจารณาแนวทางการส่งเสริม และการควบคุมดูแลการปลูกกัญชง จากนั้น สศช. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมูลนิธิโครงการหลวง เริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชงอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 โดยต่อมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2552 -2556 และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553 – 2557) และแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ 5 จังหวัด เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์  

            สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จนกระทั้งปัจจุบัน โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การตลาด และสนับสนุนการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยระยะแรกมุ่งการใช้ประโยชน์ด้านเส้นใย และต่อมาได้ขยายการวิจัยและพัฒนาด้านสาร CBD เมล็ด และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งผลการวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์เฮมพ์4 พันธุ์ และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร คือ RPF1 , RPF2 , RPF3 และ RPF4  ซึ่งเป็นพันธุ์สำหรับผลิตเส้นใยโดยมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% ปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ CBD 0.8-1.2% และมีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำกว่า 0.3% รวมทั้งเมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถผลิตเพื่อการบริโภคได้และคาดว่าจะได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มอีก 5 พันธุ์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ระบบการปลูกภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย รวมทั้งการแปรรูปเส้นใยเฮมพ์ และส่วนอื่น ๆ ของเฮมพ์ ส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายและข้อกำหนด/ระเบียบต่าง ๆ ให้สามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้




จากการแก้กฏหมายและข้อกำหนด/ระเบียบ ฉบับที่สำคัญคือ“กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท5 พ.ศ. 2563”  ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม2564  ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งกำหนดให้ส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัดCBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.3% ทำให้กัญชงมีโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร และขณะนี้มีเกษตรกร เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมากต้องการเมล็ดและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเฮมพ์จาก สวพส. ทั้งเพื่อการปลูกและการศึกษาวิจัย

สวพส. จึงได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกและพัฒนาการผลิตกัญชงโดย 1) จัดหาเมล็ดและส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นพืชเสพติด สำหรับจำหน่ายแก่เกษตรกรที่ได้รับการอนุญาตปลูก โดยเมล็ดพันธุ์พันธุ์รับรองสำหรับฤดูการผลิตปี2564 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ค่อนข้างมีจำนวนจำกัดเนื่องจากไม่ได้มีการผลิตสำรองไว้ในปีที่ผ่านมา ก่อนกฏหมายอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณและคุณภาพของเมล็ด รวมทั้งการกำหนดราคาและแนวทางการบริหารจัดการ โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณเดือนเมษายน 2564 และ2.) ในฤดูการผลิต 2565-2566 ได้วางแผนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปลูกเฮมพ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ และส่วนประกอบของเฮมพ์ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดจำหน่าย โดยจะเริ่มรับแผนความต้องการจากผู้สนใจในเดือน เมษายน 2564

“ด้วยคุณสมบัติอันหลากหลายของกัญชงหรือเฮมพ์ที่มีความยืดหยุ่น ทนทาน แข็งแรง ให้เส้นใยที่ยาว นำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เปลือก/เส้นใยทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอ แกนลำต้นทำวัสดุก่อสร้าง เมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูงทำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง และใบสามารถสกัดทำเป็นยารักษาโรค ทำให้มีการใช้ประโยชน์กันมานานและมีการวิจัยและพัฒนามากมาย โดย สวพส. พร้อมเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และขั้นตอนการปลูกให้แก่เกษตรกร บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หน่วยราชการ วิสาหกิจชุมชนหรือภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต โดยสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของ สถาบันฯ ผ่านเว็บไซต์ https://www.hrdi.or.th/ หรือFacebook Fanpage : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ” นายวิรัตน์ กล่าวส่งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad