LPN วางยุทธศาสตร์ Turnaround ภายในปี 2567 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

LPN วางยุทธศาสตร์ Turnaround ภายในปี 2567

LPN วางยุทธศาสตร์ Turnaround ภายในปี 2567

LPN วางยุทธศาสตร์ Turnaround ภายในปี 2567

LPN วางยุทธศาสตร์ปี 2564-2567 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการเติบโตของรายได้ กำไร การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพของที่อยู่อาศัยและบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในทุกมิติ

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) แถลงถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564-2567 ว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์แผน 3 ปี ให้เป็นปีของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่มีอัตราการเติบโตในด้านของรายได้ และความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน ผ่านการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า (Customer Insight) เพื่อการพัฒนาทั้งบ้านพักอาศัย และอาคารชุดพักอาศัย ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าในทุกมิติในระดับราคาที่เหมาะสม (Affordable Price) สำหรับผู้ซื้อในทุกกลุ่มภายใต้แนวคิด “ความพอดีที่ดีกว่า : The Better Balance”

“เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ปี 2564 เป็นปีที่เรา ปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization) จากโครงสร้างการทำงานตามหน้าที่ (Functional Organization) สู่การบริหารงานในรูปแบบของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Digital Transform) เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับการบริหารประสบการณ์ลูกค้า ผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างเครือข่ายงานบริหารทางธุรกิจ เป็นปีของการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565-2567 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาทในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่เราเคยทำได้ในปี 2558 หลังจากที่เราสามารถก้าวข้ามผ่านความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในปี 2563 สามารถรักษาความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร ไว้ได้ในอัตราที่เหมาะสมถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ทำให้ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวรวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” นายโอภาส กล่าว

ปี 2564 นอกจากปรับโครงสร้างขององค์กรแล้ว บริษัทได้กำหนดแผนในการทำธุรกิจโดยมุ่งให้ทุกหน่วยธุรกิจ “เพิ่มรายได้และบริหารต้นทุน” โดยกำหนด 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย การรุกตลาดบ้านพักอาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน, ขยายฐานรายได้จากภาคธุรกิจบริการ, บริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรองรับกับความเสี่ยงทางธุรกิจ, และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่

การรุกตลาดบ้านพักอาศัย :
ปี 2564 บริษัทเน้นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในตลาดที่ให้ความสนใจซื้อบ้านพักอาศัยทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีแผนเปิดตัวบ้านพักอาศัย 6 โครงการ มูลค่า 5,500 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านเดี่ยว สำหรับตลาดพรีเมี่ยมในระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ภายใต้แบรนด์ “บ้าน 365” 1-2 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยเน้นการเปิดตัวโครงการในย่านใจกลางเมืองในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่มีความเป็นส่วนตัวสูงภายใต้แนวคิด “Private Resident” เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในกลุ่มนี้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองและมีความเป็นส่วนตัว และโครงการบ้านพักอาศัยภายใต้แบรนด์ “บ้านลุมพินี ทาวน์เพลส” และ “บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์” ที่ระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อหน่วย ประมาณ 3-5 โครงการ มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานทาวน์เฮ้าส์หน้ากว้างที่สามารถจอดรถได้ 3 คัน เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้บ้านพักอาศัยจาก 20% ในปี 2563 เป็น 30% ในปี 2564 และมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของบ้านพักอาศัยขึ้นมาอยู่ที่ 50% ภายในปี 2567 ในขณะเดียวกันบริษัทยังคง รักษารายได้จากโครงการอาคารชุดพักอาศัยในปี 2564 ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าปี 2563 โดยมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 2-3 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ในปี 2564 และมีแผนเปิดตัวโครงการแรกในไตรมาสสองของปี 2564

ขยายฐานรายได้จากงานบริการ :
บริษัทรุกขยายฐานรายได้จากงานบริการเพิ่มขึ้นจากฐานธุรกิจเดิมที่มีอยู่ไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่นอกเหนือจากของ LPN โดยมีการนำแพลตฟอร์มธุรกิจ (Business Platform) สร้างเครือข่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือทั้ง บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) และบริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) โดยตั้งเป้ารายได้ในส่วนของงานบริการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้จากงานบริการและธุรกิจให้เช่าที่ 1,361 ล้านบาท

การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน :
ปี 2564 บริษัทมีนโยบายบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยชะลอแผนการซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย เนื่องจากบริษัทมีที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ในปี 2563 ทั้งสิ้น 6-8 แปลง สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยในปี 2564 ได้ตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่สร้างเสร็จพร้อมขายรองรับกับการเติบโตของธุรกิจได้ต่อเนื่องในปี 2564-2567 บริษัทจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อที่ดินใหม่เพื่อการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย ทำให้บริษัทสามารถรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้สามารถที่จะรองรับกับแผนการลงทุนในด้านอื่นๆ หรือสามารถที่จะรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากความไม่แน่นอนของการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

ในขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2564 จำนวน 2,000 ล้านบาท และเพื่อลงทุนซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการบ้านพักอาศัยที่บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทในปี 2564 โดยที่บริษัทยังคงสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio) ในสัดส่วนไม่เกิน 1:1 เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัท

การสร้างรายได้และ Backlog จากทรัพย์สินที่มีอยู่ :
ในปี 2564 บริษัทมีแผนที่จะนำเอาทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น อาคารชุดพักอาศัยที่สร้างเสร็จรอขายแล้วนั้นมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้และรวมถึงการสร้าง Backlog เพื่อขายในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำที่ดินที่รอการพัฒนาบางส่วนมาพัฒนาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินที่บริษัทถือครองอยู่ เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการไปแล้วในปี 2563 ที่สามารถทำรายได้เติบโตในส่วนนี้ได้ถึง 30%

จาก 4 ยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจในปี 2564 นายโอภาส กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารักษาการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่าปี 2563 โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากบ้านพักอาศัยประมาณ 30% ของรายได้รวม และรายได้จากอาคารชุดพักอาศัยประมาณ 70% ของรายได้รวม และรายได้ที่มาจากธุรกิจบริการและการเช่าเติบโตประมาณ 20% โดยมีเป้าหมายที่จะมีรายได้จากการขาย (Presale) ประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปี 2564 ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีรายได้จากการขายและบริการ 7,362 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 734 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ประมาณ 2,200 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในปี 2564 และมีสินค้าคงเหลือที่พร้อมขายประมาณ 11,000 ล้านบาท

“เรามั่นใจว่าหลังจากที่ผ่านวิกฤติ COVID-19 ในปี 2563 มาแล้ว เราได้เรียนรู้จากทุกวิกฤติที่ผ่านมาตลอดเวลา 32 ปี ทำให้เรามีความแข็งแกร่งและความพร้อมที่เราจะเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้” นายโอภาส กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad