สวพส. ผนึกกำลังร่วมกับ สวก. และ สพว. พัฒนากัญชง สู่อุตสาหกรร - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สวพส. ผนึกกำลังร่วมกับ สวก. และ สพว. พัฒนากัญชง สู่อุตสาหกรร

                     

สวพส. ผนึกกำลังร่วมกับ สวก. และ สพว. พัฒนากัญชง                                  สู่อุตสาหกรรม

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สพว. ซึ่งจะมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงของประเทศสู่อุตสาหกรรมระหว่างทั้งสามหน่วยงาน ผ่านทางระบบ Facebook Live ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

โดยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ผลการวิจัยและพัฒนา ทำให้จากอดีตที่แม้แต่การใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาและวิถีของชนเผ่าม้ง เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มและใช้สอยในครัวเรือนนั้น ยังผิดกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปีพ.ศ. 2549-จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรกๆ มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ ในขณะนี้ โดยมีผลงานที่สำคัญคือ


ระยะที่ 1 ปี พ.ศ.2549-2554 ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ 4 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่มีปริมาณ THC ต่ำกว่า0.3% คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 ควบคู่กับวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม ได้แก่ ระยะปลูก ช่วงเวลาปลูก อายุเก็บเกี่ยว และระบบการปลูกเฮมพ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การตลาด และนำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง (2552-2556) แผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) และแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ใน 5จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่น่าน เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2555-2559 สวพส. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ได้แก่ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สามารถปลูกเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พัฒนาระบบควบคุมการปลูกที่เหมาะสม และสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Institute of Small and Medium Enterprises Development, ISMED)กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนิน “โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเฮมพ์อย่างสร้างสรรค์แบบครบวงจร” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของกัญชงที่เชื่อมโยงสู่ภาคปฏิบัติในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และ สวพส. ได้ศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ในด้านการศึกษาระบบส่งเสริมการปลูกภายใต้ระบบควบคุม ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด การพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์เฮมพ์ภายใต้ระบบควบคุม การพัฒนาชุดตรวจปริมาณ THC ภาคสนาม (THC test kit) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยเฮมพ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง การวิจัยและพัฒนาต้นแบบอาหารสุขภาพจากเมล็ดเฮมพ์ เช่น น้ำมันในแคปซูล และโปรตีนอัดเม็ด ซึ่งพบว่าเมล็ดกัญชงที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 พันธุ์ มีน้ำมัน 28.06-29.62 % และเมื่อสกัดด้วยวิธีการบีบเย็นจะได้ผลผลิตน้ำมัน 22.29% ซึ่งมีกรดไขมันได้แก่โอเมก้า 3, โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 เท่ากับ 20.91, 58.23, 9.74 กรัมต่อน้ำมันเฮมพ์ 100 กรัม และมีโปรตีนที่ในกากเมล็ดเฮมพ์ 33.25 % 

ระยะที่ 3 ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน มุ่งศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อขยายผลและผลักดันเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยตามนโยบายรัฐบาล ทั้งด้านเส้นใย อาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ เช่น ร่วมกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก และกรมพลาธิการทหารบก วิจัยและพัฒนาเครื่องแต่งกายทหารจากเส้นใยเฮมพ์ 3ชนิด คือ ชุดพราง เสื้อยืด และถุงเท้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ พัฒนาชุดตรวจวัดปริมาณ THC อย่างง่าย (THC strip test) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งตัวอย่างตรวจในห้องปฏิบัติการ ประมาณ 15-25 เท่า รวมทั้งการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ผ่านการจัดฝึกอบรม สัมมนา ศึกษา ดูงาน ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และคู่มือต่างๆ


ข้อจำกัดที่สำคัญของการสนับสนุนให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยคือ ข้อมูล พันธุ์ และ การเตรียมการด้านการตลาด ซึ่งกฎหมายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลการวิจัยที่เน้นใช้ประโยชน์จากเส้นใยเป็นหลัก จึงยังไม่สมบูรณ์มากพอสำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งความสนใจปลูกขณะนี้ส่วนใหญ่มุ่งใช้ประโยชน์จาก CBDและเมล็ด และข้อจำกัดที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง คือเมล็ดพันธุ์ที่ยังผลิตได้ปริมาณน้อยมากสำหรับปี พ.ศ.2564 นี้ เพราะมีการผลิตจำนวนน้อยเพื่อใช้ในงานวิจัย ไม่สอดคล้องกับความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน ทั้งนี้จะสามารถการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้พอเพียงได้เร็วที่สุด คือในปี พ.ศ.2565 การใช้ข้อมูลและเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศอาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคงต้องทำอย่างรอบครอบ โดยมีการศึกษาทดลองก่อนนำมาใช้อย่างจริงจัง

เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง มีอีกหลายสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำ สวพส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพืชนี้ มีประเด็นที่จะให้ความสำคัญและดำเนินการในระยะต่อไป คือ (1) การปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีสารสำคัญกลุ่ม Cannabinoids, Flavonoids หรือ Terpenes ในช่อดอกสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร หรือเวชสำอาง คัดเลือกพันธุ์ที่มีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น การไม่ตอบสนองต่อช่วงแสงเพื่อให้ปลูกได้ทุกฤดูกาล รวมทั้งรวบรวมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์พืชสกุล Cannabisสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ (2) การผลิตสารสำคัญจากช่อดอก มุ่งวิจัยวิธีการปลูกและการกระตุ้นการออกดอกเพื่อให้ผลิตสารสำคัญจากช่อดอกได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ (3) การผลิตเมล็ดสำหรับการบริโภค มุ่งพัฒนาระบบการปลูกทั้งขั้นตอนวิธีการผลิตต้นทุน และความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เปิดให้ใช้ประโยชน์เมล็ดเป็นอาหารและเครื่องสำอางและ (4) การแปรรูปเส้นใย มุ่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยกัญชงโดยปรับใช้เทคโนโลยีภายในประเทศให้ใช้ประโยชน์เส้นใยกัญชงอย่างมีประสิทธิภาพในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายทหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่น และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ และ (5) การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เพื่อการผลิตเมล็ด และส่วนประกอบต่างๆ ของกัญชง เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและผู้สนใจ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการตลาด รวมทั้งนำข้อมูลของการวิจัยและพัฒนามาใช้สนับสนุนการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อกำหนด และวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนากัญชงสู่พืชเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

ขณะที่ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557– ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ โดยจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ในขั้นแรก สวก. มีแนวทางในการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนในด้านการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงมีแนวทางที่จะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงานในการวิเคราะห์หาข้อมูลต้นทุนการผลิตกัญชงตลอดห่วงโซ่ รวมถึง สวก. จะร่วมสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC          ที่เหมาะสมของกัญชงในการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ สวก. ยังได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุกๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือ  ในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

ด้านนายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สพว. กล่าวว่า  สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curveและ New S-Curve ในฐานะที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรก็ต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ  รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้

ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) มีองค์ความรู้ประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบันโดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส) และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup)ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง 5 คลัสเตอร์ การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่างๆ  เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ  ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับการถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทางhttps://www.facebook.com/ardathai ในวันที่ 6สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad