ติช นัท ฮันห์ "บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้" มรณภาพในวัย 95 ปี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565

 ติช นัท ฮันห์ "บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้" มรณภาพในวัย 95 ปี

 ติช นัท ฮันห์ "บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้" มรณภาพในวัย 95 ปี

เว้เวียดนาม--24 มกราคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ 

หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระนิกายเซน ผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้บุกเบิกวิถีแห่งการเจริญสติสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลที่สุดรูปหนึ่งของโลก มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มกราคม เวลา 00.00 น. สิริอายุ 95 ปี

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มรณภาพอย่างสงบที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ 80 ปีก่อน 

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นนักเขียนและกวีที่มีผลงานตีพิมพ์กว่า 100 เล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 40 ภาษา มียอดขายกว่า ล้านเล่มเฉพาะในสหรัฐเพียงประเทศเดียว หนังสือขายดีได้แก่ ปาฏิหาริย์แห่งการมีสติ (The Miracle of Mindfulness), สันติภาพทุกย่างก้าว (Peace is Every Step), ความโกรธ ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ (Anger) และ How to Love

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้รับสมญานามว่า "บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้" เป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการปฏิวัติการเจริญสติ ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนแก่ลูกศิษย์ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนสติภาวนาชั้นแนวหน้ามากมาย และได้พัฒนาวิถีแห่งการบำบัดที่เชื่อมโยงกับจิตวิทยาคลินิกแขนงหลัก เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคเครียด

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ยังมีอิทธิพลต่อผู้นำในแวดวงต่าง ๆ ทั้งการเมือง ธุรกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้กล่าวปาฐกถาธรรมที่รัฐสภาสหรัฐ อังกฤษ อินเดีย และไอร์แลนด์เหนือ มาร์ค เบนีออฟ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีจิม คิม อดีตประธานธนาคารโลก และคริสเตียนา ฟิเกเรส ผู้บุกเบิกความตกลงปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่างยกย่องคำสอนของท่านว่าช่วยสร้างพลังและและบันดาลใจให้แก่พวกเขา สารคดี ก้าวเดินกับฉัน (Walk With Me) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ให้เสียงบรรยายโดย เบเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์ นักแสดงชาวอังกฤษ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2560 และได้รับความนิยมอย่างมากทั่วยุโรป

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากลในปี 2509 เมื่อท่านเดินทางไปยังตะวันตกเพื่อเรียกร้องการยุติสงครามเวียดนาม ท่านได้สานมิตรภาพกับ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และมีบทบาทสำคัญในการทำให้ดร.คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ตัดสินใจพูดต่อต้านสงคราม ในปี 2510 ดร.คิงเสนอชื่อ ติช นัท ฮันห์ เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยยกย่องท่านว่าเป็น "ผู้เผยแพร่สันติภาพและอหิงสา"

การรณรงค์เพื่อสันติภาพทำให้ติช นัท ฮันห์ ต้องลี้ภัยจากเวียดนามเป็นเวลา 39 ปี โดยท่านเพิ่งได้เดินทางกลับบ้านเกิดในปี 2561 และใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในวัดที่ท่านเคยจำพรรษามาตั้งแต่แรก ผลงานของท่านได้รับการสานต่อโดยชุมชนหมู่บ้านพลัมแห่งพุทธศาสนิกสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Plum Village Community of Engaged Buddhism) ซึ่งเป็นเครือข่ายรากหญ้าทั่วโลกที่ท่านก่อตั้งขึ้น ประกอบด้วยกลุ่มเจริญสติภาวนาท้องถิ่นกว่า 1,000 กลุ่ม ศูนย์สถานปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่ง และวัดจำนวนสิบแห่งในสหรัฐ ยุโรปและเอเชีย

ศูนย์ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีพระภิกษุและแม่ชีกว่า 700 รูปประจำอยู่ นับเป็นนิกายของพุทธศาสนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกตะวันตก และยังต้อนรับผู้มาเยือนกว่าหมื่นคนในแต่ละปี คณะสงฆ์และฆราวาสที่นับถือหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ยังคงนำหลักคำสอนของท่านเกี่ยวกับการเจริญสติ การสร้างสันติภาพ การพูดคุยด้วยเมตตาธรรมไปใช้ในโรงเรียน สถานที่ทำงาน ธุรกิจต่างๆ และในเรือนจำ

สำหรับหนังสือเล่มสุดท้ายของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีชื่อว่า เซนกับศิลปะแห่งการกอบกู้โลก (Zen and the Art of Saving the Planet) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์ เมื่อเดือนตุลาคม 2564

อ่านชีวประวัติโดยละเอียด 

Live Blog

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad